"พิธา-ก้าวไกล"ลุ้นระทึกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินปม ม.112 ชี้ชะตาอนาคต รอดก็รุ่งพุ่งสู่ทำเนียบรัฐบาล ผิดก็ร่วงเสี่ยงโดนยุบพรรค
อนาคต "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ "และพรรคก้าวไกล จะเจิดจรัส บนเส้นทางการเมือง ในการเข้าไปสู่การยึดครองอำนาจรัฐได้หรือไม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ในวันพรุ่งนี้(31 ม.ค.2567) มีคำตอบ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ นัดตัดสินคดีที่เกี่ยวกับ ม.112 ซึ่งคดีนี้ถ้า "พิธา -พรรคก้าวไกล" ผิดโทษจะแรงถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิ์เลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคชุดที่ "พิธา"เป็นหัวหน้าพรรค
แม้ผู้ร้องคือ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร"ทนายอดีตพระพุทธะอิสระ ไม่ได้ฟ้องยุบพรรคก้าวไกลโดยตรง แต่ถ้าผิดจริง ก็จะเป็นสารตั้งต้นให้มีการยื่นยุบพรรคก้าวไกลได้ทันที โดย "ธีรยุทธ" ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การกระทำของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) และ พรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่ง "พิธา" และ "พรรคก้าวไกล "เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ
ทั้งนี้ความเป็นไปได้ในคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญ จะมี 3 แนวทาง
1. ศาลสั่งให้หยุดการกระทำเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ฟ้องยุบพรรคกันภายหลัง)
2.เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้ยุบพรรค (แนวนี้ต้องวัดใจศาลรธน.เพราะไปไกลเกินคำร้อง เพราะคำร้องไม่ได้ขอในประเด็นนี้)
3.ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีคำสั่งยกคำร้อง (หากออกมาตามแนวทางนี้ "พิธา-ก้าวไกล"จะโลดแล่นทางการเมือง โอกาสก้าวไกล "พิธา"ไปสู่เป้าหมายในการเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าสูง)
สำหรับแนวโน้มในคดีนี้ผู้สันทัดประเมินว่ามีแนวโน้มสูงที่พรรคก้าวไกล ถูกตัดสินว่า กระทำผิด เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 เพราะเกี่ยวกับ ม.112 แต่จะไม่ถูกยุบพรรคทันที เพราะคำร้องไม่ขอให้ยุบพรรค
อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลก็หนีไม่พ้นปมยุบพรรคอยู่ดี เพราะความผิดดังกล่าวนั้น มาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ในมาตรา 92 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการการ มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
1.กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3.กระทำการฝ่าฝืนอีกหลายมาตรา อาทิ เรื่องของเงินบริจาคพรรคการเมืองไม่ชอบ การถูกครอบงำโดยคนนอกพรรค
สำหรับขั้นตอนการยุบพรรคนั้นจะใช้เวลาไม่นาน โดยมี 2 มาตราสำคัญของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง คือ มาตรา 92 (ตามรายละเอียดข้างต้น) และ มาตรา 93 ระบุว่า เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียน ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้อง และดำเนินคดีแทนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ จะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้ ในกรณีที่เห็นสมควรศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำใดไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณีก็ได้
ขณะเดียวกันกกต.ได้ออกระเบียบใหม่ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อ เร่งกระบวนยุบพรรคให้คดีจบได้ภายใน 67 วัน โดยระเบียบกกต.ดังกล่าว มีข้อกำหนด 11 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ เมื่อมีการร้องเรียนว่าพรรคการเมืองใดเข้าข่ายกระทำผิดอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค เลขาธิการ กกต. มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเป็นเวลา 7 วัน เมื่อเห็นว่ามีมูลให้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มภายใน 30 วัน (ขอขยายเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน) จากนั้นส่งให้ กกต. พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ดังนั้น กระบวนการยุบพรรคการเมืองจากกกต.ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาประมาณ 67 วัน
อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยุบพรรค "ไทยรักษาชาติ"จากการเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นหนึ่งในบุคคลที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าข่ายกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 23 วัน
ในขณะที่พรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบจากการกู้ยืมเงิน "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ ของพรรคการเมือง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายใช้เวลา 71 วัน
คดีนี้ ต้องลุ้นกันสุดๆสำหรับ "ด้อมส้ม" เพื่อให้ผลออกมาเป็นบวก จะได้เดินหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาลตามเป้าหมาย ในการเลือกตั้งครั้งหน้าง่ายขึ้น แต่ถ้าผลเป็นลบโอกาสที่พรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคอย่างรวดเร็วมีสูงเพราะคำวินิจฉัยจากศาลรธน.จะเป็นหลักฐานชั้นดีที่ กกต.ไม่ต้องไปสอบสวนให้มากความ ซึ่งไม่ผลดีต่อพรรคก้าวไกล เพราะแกนนำสำคัญที่เป็นกรรมการบริหารพรรค จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง และระยะเวลากว่าจะเลือกตั้งอีกนาน และทิศทางการเมืองยังมีปัจจัยแปรเปลี่ยนอีกมากมาย อันจะทำให้ภารกิจของพรรคก้าวไกลเข้าสู่เป้าหมายสูงสุดทางการเมือง ยากขึ้นอีกหลายเท่า
บริบทการเมืองจากนี้ต้องตามกันไม่กระพริบ