คอลัมน์ 'คุยเฟื่องเรื่องใกล้ตัว' โดย 'วิฑูรย์ สิมะโชคดี'
"10 พฤษภาคม" ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ”
สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เห็นชอบให้วันที่ “10 พฤษภาคม” ของทุกปีเป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมอันเกิดขึ้นจากการละเลยในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานจนเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม มีคนงานเสียชีวิต 188 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 469 รายจึงควรให้สังคมเกิดความตระหนักรู้ในอันตรายและผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานมากขึ้นพร้อมกับการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตในอดีตด้วย
เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ไฮน์ริช (Heinrich) ซึ่งถือว่าเป็นปรมาจารย์ท่านแรกๆ ของแวดวงวิชาการด้าน “การป้องกันอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัย”ได้วิเคราะห์เจาะลึกด้วยการทำวิจัยเรื่องการเกิดอุบัติเหตุ จนเป็นผู้ให้กำเนิด “ทฤษฎีโดมิโน” (Domino Theory of Accident Causation) เมื่อปี คศ.1920
สาระสำคัญของ “ทฤษฎีโดมิโน” สรุปได้ว่า “อุบัติเหตุที่ทำให้มีคนบาดเจ็บพิการ ทรัพย์สินเสียหาย จะเกิดจากปัจจัยต่อเนื่องหลายปัจจัย (Sequence of Factors) แต่ปัจจัยสุดท้ายก็คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุโดยตรง ได้แก่ การกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Acts) ของผู้ปฏิบัติงาน และหรือ สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย/เครื่องจักรอุปกรณ์ที่เป็นอันตราย (Unsafe Conditions / Mechanical or Physical Hazard)”
ตั้งแต่ คศ.1920 เป็นต้นมา นักวิชาการด้านการป้องกันอุบัติเหตุ การบริหารจัดการความปลอดภัย สุขศาสตร์อุตสาหกรรม อาชีวอนามัย วิศวกรรม ได้นำ “ทฤษฎีโดมิโน” มาเผยแพร่ว่า “อุบัติเหตุ เกิดขึ้นจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ (1) การกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Acts) และ (2) สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Conditions)” และใช้สอนใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายตลอดมา
ในวันนี้ ทั้งๆ ที่มีผู้รู้มากมายในทฤษฎีการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวข้างต้น แต่ก็ยังเกิดกรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ และกรณีอื่นๆ อีกมากมายในบ้านเรา ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 50 คนหลายครั้ง รวมถึงกรณีตึกถล่มเมื่อเดือนมีนาคม 2568 ด้วย
ดังนั้น ในวันที่ 10 พฤษภาคม ซึ่งถือเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ จึงเป็นวันแห่งการย้ำเตือนกระตุ้นให้คนไทยและสังคมไทยได้รับทราบในเรื่องของความปลอดภัยในการทำงานอย่างต่อเนื่องและปลุกกระแสให้ทุกภาคส่วนพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติคือ “Safety Thailand” ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์
ทุกวันนี้ เราได้มีการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นมาตรฐานนานาชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือได้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ. 2006 (พ.ศ.2549) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและความเจ็บป่วยจากการทำงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากกระทรวงแรงงานแล้วกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศตาม “พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535” ก็ให้ความสำคัญในเรื่องของ “ความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงาน” อย่างจริงจัง ด้วยการจัดตั้ง “Safety Clinic” ขึ้นที่ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” เพื่อบริการตอบคำถามสำหรับการแก้ปัญหาต่างๆด้านปฏิบัติการและเป็นพี่เลี้ยง (ที่ปรึกษา) ในเรื่องของการป้องกันอุบัติเหตุอันตรายและเสริมสร้างความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรม
ปัญหาอุบัติเหตุซ้ำซาก และ การบาดเจ็บพิการซ้ำซากในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนทุกหน่วยงานจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อให้ “อุบัติเหตุเป็นศูนย์” ในบ้านเรา ครับผม !