บุกร้องกมธ. จี้ ยุติโครงการสร้างเขื่อนในป่ามรดกโลกเขาใหญ่

บุกร้องกมธ. จี้ ยุติโครงการสร้างเขื่อนในป่ามรดกโลกเขาใหญ่
สมาคมพลเมืองนครนายก - กลุ่มอนุรักษ์รอบเขาใหญ่ บุกยื่นหนังสือ กมธ.ที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรียกร้องยุติโครงการสร้างเขื่อนในป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ก่อนสูญป่า 20,000 ไร่

นายสุธีร์ รัตนมงคลกุล นายกสมาคมพลเมืองนครนายก ร่วมกับกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ผนึกกำลังตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี รวมถึงเครือข่ายนักอนุรักษ์ ยื่นหนังสือต่อ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่รัฐสภา โดยมี นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ประธานกรรมกรรมาธิการการฯ เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน โดยสุธีร์ กล่าวว่า วันนี้มาเรียกร้องให้คณะกรรมธิการตรวจสอบ 2 เรื่องใหญ่ คือ โครงการสร้างเขื่อนรอบป่ามรดกโลก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กว่า 10 โครงการ และโครงการเจ้าพระยา 2 ระยะทาง 130 กิโลเมตร ที่กระทบต่อชาวบ้านและระบบนิเวศตลอดลำน้ำ ซึ่งนายพูนศักดิ์ ประธานกรรมาธิการฯ ได้ตอบรับว่าจะใช้กลไกของคณะกรรมาธิการฯ ช่วยตรวจสอบและเปิดเผยความคลุมเครือในการดำเนินโครงการดังกล่าวที่ละเลยความคิดเห็นของภาคประชาชนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ

หลังจากนั้น สมาคมพลเมืองนครนายก ตัวแทนชาวบ้าน และเครือข่ายอนุรักษ์รอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้เดินทางไปยังบริเวณด้านหน้ากรมชลประทาน สำนักงานใหญ่ คัดค้านโครงการสร้างเขื่อนในและรอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ หลังพบกรมชลประทานละเมิดมติคณะกรรมการมรดกโลก ที่แจ้งให้ไทย ยกเลิกแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จนกว่าจะดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในพื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่จะแล้วเสร็จ และให้ยุติโครงการเจ้าพระยา 2 ที่ได้ปัจฉิมนิเทศโครงการลงไปโดยไม่มีการเชิญผู้แทนฝั่งคัดค้านโครงการเข้าร่วม ด้านกรมชลประทาน มีนาย เกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา และ นางดรรชณี เฉยเพ็ชร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับเรื่อง

“กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นพื้นที่ป่ามรสุมที่มีความสำคัญทางชีวภูมิศาสตร์ และเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย มีชนิดพันธุ์พืชไม่น้อยกว่า 2,500 ชนิด มีสัตว์ป่าอยู่อาศัยมากกว่า 800 ชนิด และเป็นพื้นที่ฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง รองจากกลุ่มป่าตะวันตก มีคุณค่าโดดเด่นระดับสากล และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี พ.ศ.2548” นายสุธีร์ กล่าว

นายสุธีร์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากรมชลประทานได้มีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการเข้าสำรวจประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำใสน้อย-ใสใหญ่ และยังมีการดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เคยมีทางเลือกอื่นในการจัดการน้ำให้กับประชาชน สมาคมพลเมืองนครนายกและเครือข่ายอนุรักษ์รอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เห็นว่า น้ำเป็นสิ่งจำเป็น ที่ต้องมีการจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการทำลายป่าธรรมชาติ ที่จะต้องสูญเสียพื้นที่ที่มีลักษณะจำเพาะในหลายแห่งรอบผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และกลุ่มป่าดงพญาเย็น ซึ่งเป็นสมดุลทางระบบนิเวศของคนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน รวมไปถึงบางโครงการยังส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่ามามากกว่า 100 ปี เช่น โครงการเขื่อนคลองมะเดื่อ

ขณะที่ นางสาวกมลลักษณ์ สุขพลี ผู้ประสานงานโครงการยุติเขื่อนในพื้นที่มรดกโลก กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เปิดเผยว่า โดยรอบผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำอยู่แล้วถึง 19 แห่ง แต่กรมชลประทานและภาครัฐ ยังคงมีนโยบายบริหารจัดการน้ำด้วยการสร้างเขื่อนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 7 โครงการ เราจะสูญเสียป่าเกือบ 20,000 ไร่ ที่เป็นหัวใจของระบบนิเวศ ไม่ใช่ป่าอนุรักษ์ทั่วไป ปลูกสร้างใหม่ไม่ได้ และอาจส่งผลให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนจากการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ด้านนายสุทธิศักดิ์ บุณยะเศรษฐ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กล่าวว่า ในนามตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์รอบกลุ่มป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ขอเรียกร้องให้กรมชลประทาน เปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ 19 เขื่อนรอบเขาใหญ่ที่สร้างเสร็จแล้ว ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือไม่ และขอทางเลือกในการจัดการน้ำ ที่ไม่ใช่การสร้างเขื่อนเพิ่มในพื้นที่ป่าอนุรักษ์” ทั้งนี้ นาย สุทธิศักดิ์ ได้ตั้งข้อสังเกต ทวงถามเรื่องการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) เปิดใช้งานมาแล้ว 7 ปี แต่ทำไมท่อส่งน้ำฝั่งขวาที่ต้องส่งน้ำให้เกษตรกรยังก่อสร้างไม่เสร็จ ขณะที่ท่อส่งน้ำฝั่งซ้ายกลับสามารถส่งน้ำไปให้เขตนิคมอุตสาหกรรมบ่อทอง 33 จ.ปราจีนบุรี ได้ รวมถึงต้องการให้กรมชลประทานเปิดเผยผลการดำเนินงานปลูกป่าทดแทนของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยระบุพิกัดพื้นที่ จำนวน และมีให้มีประเมินผลว่าเป็นไปตามแผนการฟื้นฟูหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากหลายโครงการสร้างเขื่อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ผ่านมา ล้วนล้มเหลวในการฟื้นฟูระบบนิเวศ

นายโสภณัฐต์ กิ่งผา ชาวบ้านกลุ่มรักษ์คลองมะเดื่อ เป็นตัวแทนผู้ที่จะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครนายก “คนในคลองมะเดื่อ อยู่กับป่าเขาใหญ่มาเป็นร้อยปี หาอยู่หากินเก็บผลผลิตจากป่า ปลูกผลไม้ ทำการท่องเที่ยว ป่าและคนอยู่ด้วยกันได้ เรามีเขื่อนขุนด่านปราการชลอยู่ห่างออกไปไม่ถึง 10 กิโลเมตร ชาวบ้านเรายกมือคัดค้านมาตลอด พื้นที่ของเรามีความอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งปลา ปูน้ำตกเขาใหญ่ ตะกอง รวมถึงช้างป่า ไม่ใช่แค่คนที่จะไร้บ้าน แต่การหายไปของป่าก็จะทำให้ปัญหาคนกับช้างรุนแรงมากขึ้น”

นางศิริลักษณ์ คำแหลมศักดิ์ กลุ่มผ้าขาวม้าติ่งป่า เครือข่ายอนุรักษ์รอบกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ อ้าง “การสร้างเขื่อน ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ว ให้ดูจากปริมาณเขื่อนที่เรามีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ ประเทศเราไม่ได้ขาดภาชนะบรรจุน้ำ แต่เราขาดการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม

“ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 44 ปี 2564 ที่ประเทศจีน และครั้งที่ 45 ปี 2566 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้มีมติแจ้งเตือนให้ไทย ยกเลิกแผนสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จนกว่าจะดำเนินการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ในพื้นที่ลุ่มน้ำและแหล่งมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ แต่กรมชลประทานได้มีการละเมิดมติของคณะกรรมการมรดกโลกและเดินหน้าผลักดันโครงการคุกคามผืนป่ามาโดยตลอด จึงเป็นที่มาของการรวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านกันในวันนี้” นายกสมาคมพลเมืองนครนายก ระบุ

TAGS: #มรดกโลก #เขาใหญ่ #กลุ่มอนุรักษ์รอบเขาใหญ่