รัฐจะต้องเร่งรัดดำเนินคดีตามกฎหมายกับนายทุนที่บุกรุกพื้นที่อุทยาน เพื่อทวงคืนสมบัติของชาติกลับมาเป็นของแผ่นดิน และควรตรวจสอบย้อนและดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้นให้ถึงที่สุด
ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน มีมานานกว่า 50 ปี เนื่องจากการกำหนดแนวเขตไม่มีการเข้าสำรวจพื้นที่จริง สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่แต่เดิม ส่วนกรณีที่ปล่อยให้นายทุนบุกรุกสร้างรีสอร์ทกว่า 400 ราย ต้องไปตรวจสอบว่า ใครที่ปล่อยปะละเลยให้มีการก่อสร้างรีสอร์ทเปิดบริการมาอย่างยาวนานแล้วจึงเข้าจับกุม
ประเด็นปัญหาที่ทับลานต้องแยกชัดๆ เป็น 3 กลุ่ม
1.กลุ่มราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน 2524
2.กลุ่มราษฎรที่ได้รับการจัดสรรที่ทำกินตามโครงการของรัฐ
3.กลุ่มนายทุนที่บุกรุกสร้างรีสอร์ท
ซึ่งชัดเจนว่า 2 กลุ่มแรก รัฐบาลจะต้องเข้าไปให้การดูแลและจัดสรรที่ดินทำกินให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเร่งยุติปัญหาโดยเร็ว ขณะที่กลุ่มที่ 3 รัฐจะต้องเร่งรัดดำเนินคดีตามกฎหมายกับนายทุนที่บุกรุกพื้นที่อุทยาน เพื่อทวงคืนสมบัติของชาติกลับบมาเป็นของแผ่นดิน และควรตรวจสอบย้อนและดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้นให้ถึงที่สุด ที่ปล่อยปละละเลยให้นายทุนบุกรุกสร้างรีสอร์ทเอาสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของตนเองเป็นจำนวนมาก
ปัญหานี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2524 โดยกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้นยังไม่มีการแยกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2524 โดยไม่มีการรังวัดกำหนดเขต ความหมายก็คือเป็นการกำหนดเขตจากการขีดบนแผนที่ โดยไม่มีการเดินสำรวจรังวัดที่ดิน จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาทับซ้อนกับพื้นที่ราษฎรที่อาศัยอยู่เดิมก่อนการประกาศเขต และทับซ้อนกับที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)บางส่วนที่มีการจัดสรรไว้ก่อนแล้ว ทำให้เกิดปัญหาคาราคาซังมาตลอด
ยิ่งไปกว่านั้นภายหลังประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานแล้ว กรมป่าไม้ (ขณะนั้น) ยังร่วมกับฝ่ายความมั่นคง จัดสรรที่ดินให้ราษฎรตามโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความั่นคงในพื้นที่ หรือ พมพ. และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือ คจก.ในช่วงปี 2526-2534 ทั้งที่กฎหมายอุทยานฯ ไม่มีข้อกำหนดให้จัดสรรที่ดินได้ในขณะนั้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว กรมป่าไม้จึงได้มีการสำรวจพื้นที่ และรังวัดฝังหลักเขตอุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ เพื่อแยกพื้นที่ทำกินของราษฎรตามโครงการรัฐต่างๆ ออก และผนวกพื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์เพิ่มเข้ามาใหม่ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีที่ได้เห็นชอบ เป็นที่มาของแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในปี 2543
ปัญหานี้ยืดเยื้อมาจนถึงปี 2566 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบให้ใช้เส้นแนวเขตสำรวจปี 2543 มาตราส่วน 1:4000 (One Map) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เป็นผู้เสนอ ส่วนการดำเนินคดีกับนายทุนที่มีการบุกรุกพื้นที่อุทยานสร้างรีสอร์ทนั้นก็ให้มีการดำเนินคดีไปตามกฏหมาย รวมทั้งการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายตามที่สำนักงานกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งเป็นมติ ครม.บังคับใช้เฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเท่านั้น
ดังนั้นหากใครที่กังวลว่าการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจะเป็นการเปิดช่องให้นายทุนเข้ามาครอบครองที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งจะมีการใช้อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นต้นแบบนำไปใช้ที่ภูเก็ต สมุย และอื่นๆ นั้น ก็ควรจะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและแยกแยะประโยชน์ของราษฎรและประโยชน์ของนายทุนออกจากกัน อย่าฉกฉวยโอกาสใช้สถานการณ์เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง