ช่วงเทศกาลที่จะต้องเจองาานฉลองไม่เว้นวัน หลายคนคงเติมแอลกอฮอล์ทุกวันไม่แพ้กัน จนอาจก่อให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผย ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol poisoning) คือ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณมากและดื่มแบบรวดเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ตับไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายรวนจนเกิดภาวะช็อกที่เป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ภาวะที่ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัม ทำให้ตับไม่สามารถขับออกจากเลือด อาจเกิดภาวะช็อกได้ กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เมื่อดื่มเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย
การดื่มแอลกอฮอล์ช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงในระดับนี้ สามารถกดสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ การรู้สึกตัวของผู้ที่ดื่มและทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ในระยะเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งอาจมีสัญญาณบ่งบอกและอาการเตือนภาวะสุราเป็นพิษ เช่น เกิดอาการสับสน พูดไม่ชัดหรือพูดไม่รู้เรื่องอย่างหนัก อาเจียน จังหวะการหายใจผิดปกติหรือหายใจช้าลง ตัวเย็นผิดปกติ ผิวหนังซีดหรือกลายเป็นสีม่วง หมดสติ ไม่รู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถตอบสนองการรับรู้ได้
การเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษขึ้นอยู่กับปัจจัย การดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคล ปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในแต่ละชนิดของเครื่องดื่ม และเพศหญิงจะมีปฏิกิริยาต่อแอลกอฮอล์ได้ไวกว่าผู้ชาย
อาการของภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ
- สับสน พูดไม่รู้เรื่อง
- น้ำตาลในเลือดต่ำ
- ง่วงซึม
- อาเจียน
- ผิวหนังซีด
- หมดสติไม่รู้ตัว
- ทรงตัวไม่ได้
- หัวใจวายเฉียบพลัน
- หายใจผิดปกติ เกิดอาการชัก
การตอบสนองต่อระดับแอลกอฮอล์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แม้ระดับจะน้อยกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็อาจเสี่ยงจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือการนอนหลับลึกในท่าผิดปกติที่อุดกั้นทางเดินหายใจได้ เช่น การนอนคอพาดกับระเบียงจนกดทางเดินหายใจ
ผลกระทบต่อร่างกายจากการดื่มแอลกอฮอล์
- หัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ไม่แข็งแรง เกิดหัวใจวายได้ง่าย
- ตับ เกิดโรคตับแข็ง ตับที่ถูกทำลายจากแอลกอฮอล์จะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี เช่น การย่อยสลายสารอาหารหรือการเปลี่ยนแปลงของยาที่รับประทานเข้าไป บางรายอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง หรืออาเจียนเป็นเลือด
- ผิวหน้า หลอดเลือดขยายตัว ผิวหน้าจะเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนออกจากทางผิวหน้า บางครั้งอาจเกิดอาการหนาวสั่นหรือเกิดโรคปอดบวมได้ง่ายในฤดูหนาว
- สมอง แอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดการทำงานของสมองจะทำให้ความจำเสื่อม การตัดสินใจไม่ดี สมาธิเสีย โกรธง่าย พูดช้าลง สายตาพร่ามัว และเสียการทรงตัว
- กระเพาะอาหารอักเสบฉับพลันบางครั้งทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ระบบสืบพันธุ์
– เพศชายเกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
– ผู้หญิงตั้งครรภ์จะมีผลต่อทารกทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม
ในกรณีที่ภาวะสุราเป็นพิษรุนแรงอาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการโคม่า สมองถูกทำลาย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งหากพบเพื่อนหรือบุคคลใกล้ชิด มีอาการดังกล่าวให้รีบโทรแจ้ง 191 หรือ 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือนำส่งโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
การดูแลเบื้องต้น พยายามปลุกให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง ให้ดื่มน้ำเปล่าในกรณีที่สามารถดื่มได้ พยายามทำให้ร่างกายอบอุ่น หากผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ ให้จัดนอนในท่านอนตะแคง คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ ทั้งนี้หากประสบปัญหาเรื่องยาและสารเสพติด รวมถึงสุรา สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง