จับตา 11 ผลกระทบเกิดขึ้น ต่อตลาดทุนโลก หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง

จับตา 11 ผลกระทบเกิดขึ้น ต่อตลาดทุนโลก  หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง
บล.ทรีนีตี้ ประเมิน 11 ผลกระทบเกิดขึ้นต่อตลาดทุนโลก หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ชนะเบ็ดเสร็จ เสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาสินค้าพุ่ง และจากการขึ้นภาษีนำเข้า โอกาสเฟดลดดอกเบี้ยน้อยลง

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทาง การลงทุนในตลาดหุ้นภายหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมครองเสียงข้างมากในสภา Congress แบบเบ็ดเสร็จ (Red sweep) ว่าตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดหุ้นเกิดใหม่ในภาพรวม แต่ดัชนีหุ้นไทยจะมีความแข็งแกร่งมากกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ เนื่องจาก Bond yield ในประเทศไม่ได้ปรับขึ้นในรอบนี้ ทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นไทยในมิติส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Yield gap) ยังคงดูน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนในประเทศ ซึ่งข้อโชคดีก็คือว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงพอมีสภาพคล่องเหลืออยู่ จากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นตลาดทุนทั้งกองทุนวายุภักษ์ 1 และกองทุน Thai ESG ดังนั้น ประเมินดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสทรงตัวได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ 

ณัฐชาต กล่าวว่า กลุ่มหุ้นไทยที่น่าสนใจบนธีม U.S. election play ได้แก่ กลุ่ม Oil & Gas จากนโยบายสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปของว่าที่ปธน.ทรัมป์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม บนความคาดหวังการโยกย้ายฐานการผลิตจากประเด็นสงครามการค้า ส่วนกลุ่มหุ้นที่ปลอดภัยยังคงมองไปยังกลุ่มหุ้น Domestic ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ค้าปลีก อสังหาฯ สื่อสาร ไฟแนนซ์ ท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่ม Bond-liked อย่าง IFF/REIT/Utilities ที่ยังคงมี Dividend yield gap อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งสหรัฐในครั้งนี้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์คว้าชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมครองเสียงข้างมากในสภา Congress แบบเบ็ดเสร็จ (Red sweep) ซึ่งถือเป็นกรณีที่คล้ายกันกับเมื่อปี 2016 ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวแปรสินทรัพย์ทั่วโลกต่างๆใน 11 ด้านดังนี้

1. คาดการณ์การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวมากขึ้นในช่วงถัดไป เช่น ด้านกลาโหม ประกันสังคม ประกันสุขภาพ ฯลฯ ส่งผลให้แนวโน้ม Supply พันธบัตรเร่งตัวขึ้น เป็นแรงผลักดันทำให้ Yield มีแนวโน้มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ แนะหลีกเลี่ยงการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯและกลุ่ม Bond-liked ในระดับโลกไปก่อน เช่นกลุ่ม Global REIT เป็นต้น

2. ความน่าจะเป็นที่รัฐบาลชุดใหม่จะเก็บภาษีนำเข้า (Tariff) มีสูงขึ้น และอาจอยู่ในระดับรุนแรงและรวดเร็วจากการที่พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง มอง Tariff ที่สูงขึ้นนี้ ย่อมทำให้แรงกดดันทางด้านราคาสินค้าในระดับโลกโดยเฉพาะสินค้าที่ถูกเก็บภาษีเพิ่ม มีโอกาสส่งผลผลักดันต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับโลกได้

3. คาดการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น จากทั้งมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ และการเก็บ Tariff ที่สูงขึ้น มีโอกาสทำให้ Fed ชะลอการลดดอกเบี้ยในช่วงถัดไป ล่าสุดแม้นักลงทุนในตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงในสัปดาห์นี้อีก 0.25% แต่การประชุมครั้งสุดท้ายที่รออยู่ในเดือนธันวาคมนั้น เริ่มมีบางส่วน (30%) คิดว่า Fed อาจไม่ลดดอกเบี้ยต่ออีกแล้ว 

4. เงิน USD มีแนวโน้มแข็งต่อเนื่อง เพราะการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น มีโอกาสทำให้แนวโน้มดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย (Trade flow) นอกจากนั้นในฝั่งของ Capital flow มีโอกาสที่เราจะเห็นนักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนในตราสารประเทศอื่นเข้าสู่ตราสารเงินฝากและตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น ไม่นับรวมกับโอกาสที่ Fed จะชะลอการลดดอกเบี้ยออกไปอีก

5. นโยบายการลดภาษีที่เคยเกิดขึ้นในสมัยทรัมป์ 1 มีแนวโน้มสูงมากที่จะถูกต่ออายุออกไปหลังจากเริ่มทยอยหมดอายุลงในปีหน้า อาทิเช่น การลดภาษีนิติบุคคล ปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยตรง

6. จากผลการเลือกตั้งกรณี Red sweep ในปี 2016 ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัว Outperform ตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างเห็นได้ชัดในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งเราคาดว่าครั้งนี้ก็จะเป็นภาพแบบเดียวกัน ดังนั้นเรามองว่ามีความจำเป็นที่นักลงทุนต้องโยกย้ายเงินลงทุนบางส่วนไปเพิ่ม Exposure กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น

7. ในขณะที่ภายในตลาดหุ้นสหรัฐฯเอง มีโอกาสที่เราจะเห็นภาพการปรับตัวที่แตกต่างระหว่างกลุ่มหุ้นในช่วง 1 เดือนแรก คล้ายกับปี 2016 อาทิ การปรับตัว Outperform ของกลุ่มหุ้น Cyclical เมื่อเทียบกับ Defensive, การปรับตัว Outperform ของกลุ่มหุ้น Value เมื่อเทียบกับ Growth การปรับตัว Outperform ของดัชนี Dow Jones เมื่อเทียบกับ NASDAQ และการปรับตัว Outperform ของหุ้นขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่

8. ในฝั่งของหุ้นไทย คาดว่าคงแปรผันไปตามตลาดหุ้นเกิดใหม่ในภาพรวม แต่ดัชนี SET น่าจะมีความแข็งแกร่งกว่าไม่มากก็น้อย จากการที่ Bond yield ในประเทศไม่ได้ปรับขึ้นในรอบนี้ ทำให้มาตรวัด Valuation ของตลาดหุ้นเราจำพวก Yield gap ยังคงดูน่าสนใจในสายตานักลงทุนในประเทศ ซึ่งข้อโชคดีก็คือ นักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงพอมีสภาพคล่องเหลืออยู่ ประเมิน SET มีโอกาสยากมากที่จะหลุดระดับ 1400 จุดภายในสิ้นปีนี้ มองกลุ่มหุ้นไทยที่น่าสนใจบนธีม U.S. election play ได้แก่กลุ่ม Oil & Gas และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มหุ้นที่ปลอดภัยยังคงมองไปยังกลุ่มหุ้น Domestic ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม ค้าปลีก อสังหาฯ สื่อสาร ไฟแนนซ์ ท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่ม Bond-liked อย่าง IFF/REIT/Utilities เป็นต้น

9. ประเมินตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์ช่วงสั้นจากค่าเงิน JPY ที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงิน USD ส่วนหุ้นอินเดียได้ประโยชน์จากการ Relocate เม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นจีนจากความกังวลสงครามการค้า และหุ้นเวียดนามได้อานิสงส์จากความคาดหวังการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้น

10. มองธีมการลงทุน Reflation trade ในระดับโลกมีความน่าสนใจ เช่นกลุ่ม Commodity กลุ่มน้ำมัน เป็นต้น ตามนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลของโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงแต่ว่าในระยะสั้น แนะรอให้ราคาสินทรัพย์เหล่านี้ย่อลงรับการแข็งค่าของเงิน USD ให้เรียบร้อยเสียก่อน

11. ประเมินราคาทองตำมีโอกาสทรงตัวออกด้านข้างต่อจากนี้ โดยในฝั่งปัจจัยหนุนเช่นการเป็นสินทรัพย์ที่ปกป้องเงินเฟ้อ (Inflation hedged) อาจถูกกลบด้วยปัจจัยกดดันอย่าง Nominal bond yield ที่สูงขึ้น เงิน USD ที่แข็งค่า และแนวโน้มการลดดอกเบี้ย Fed ที่ชะลอออกไป

TAGS: #ทรัมป์ #เลือกตั้งสหรัฐฯ