40 ปี ‘ตลาดสี่มุมเมือง’ จากโมเดลค่าเช่าแผงรายวัน สู่ต้นแบบแพลตฟอร์มค้าส่งพันล้าน

40 ปี ‘ตลาดสี่มุมเมือง’  จากโมเดลค่าเช่าแผงรายวัน  สู่ต้นแบบแพลตฟอร์มค้าส่งพันล้าน
‘ตลาดสี่มุมเมือง’ ตลาดกลางค้าส่งผักผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ของเมืองไทย บนพื้นที่ กว่า 350 ไร่ บนถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 29 พร้อมกระจายวัตถุดิบอาหารไปทั่วประเทศ ด้วยสินค้ากว่า 8,000 ตันต่อวัน

‘ปณาลี ภัทรประสิทธิ์’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอนเมืองพัฒนา จำกัด ผู้บริหารตลาดสี่มุมเมือง กล่าวว่า ‘ตลาดสี่มุมเมือง’ มาจากจุดเริ่มต้นธุรกิจครอบครัว ที่ดำเนินการต่อเนื่องถึงในเจนเนอเรชันที่ 3

โดย ‘ตลาดกลางสี่มุมเมือง’ เปิดบริการในปี 2526 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจรัฐบาลในยุคนั้น และมีรายได้จากการเก็บค่าบริการรายวันจากกลุ่มผู้เช่าพื้นที่ ถึงปัจจุบันมีอายุครบ 40 ปีแล้ว

ลงทุน4.5 พันล. เข้าสู่ยุคใหม่

ปณาลี บอกว่า การดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จนเข้าสู่ยุคใหม่ของตลาดสี่มุมเมือง ได้มีการลงทุนไปกว่า 4,500 ล้านบาท พร้อมขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น 70% ให้เป็นตลาดค้าส่งผักที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่สำคัญยังเป็นตลาดมะม่วงที่ใหญ่สุดในประเทศ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงในวันนี้ ‘ตลาดสี่มุมเมือง’ ได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายเพื่อให้ ธุรกิจ ดำเนินการมาได้ตลอดระยะเวลาร่วม 40 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อรองรับปริมาณคนหมุนเวียน (Traffic) กว่า 70,000 คนต่อวัน  

ดังนั้น แนวทางการบริหารจัดการ จะต้องให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ และสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ด้วยมองว่าการปรับตรงจุดหนึ่งอาจมีผลกระทบกับอีกจุดหนึ่ง จากการหาจุดศูนย์กลางเพื่อให้สามารถสื่อสาร และขับเคลื่อนองค์กรที่มีผู้คนเกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งหมด จากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ให้เข้าใจตรงกัน

รวมทั้ง การปรับองค์กรให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันที (Agile Organization) มีความคล่องตัวสูง ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภค พร้อมมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจอยู่เสมอเพื่อขยายโอกาสการเติบโตในอนาคต

โมเดลธุรกิจ ตลาดสี่มุมเมือง

ปัจจุบัน ‘ตลาดสี่มุมเมือง’  อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มตลาดกลางค้าส่งผักที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางค้าส่งผักผลไม้ของสดชั้นนำของเอเชีย’ ด้วยมาตรฐานระดับโลก

โดยรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของตลาดสี่มุมเมือง คือ การให้เช่าพื้นที่และการให้บริการ ซึ่งรายได้หลักยังมาจาก ค่าเช่าพื้นที่ และรายได้จากการให้บริการระบบสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ ยังต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ที่สนับสนุนตลาด ได้แก่

1.Simummuang Online ธุรกิจขายส่งผัก ผลไม้ ของสดทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์

2. แอปพลิเคชั่น Simummuang Sourcing บริการจัดหาสินค้าให้กับบริษัทหรือผู้ต้องการสินค้าในปริมาณมาก

3. ธุรกิจจากวัสดุรีไซเคิลเป็นต้น

ต้นแบบตลาดค้าส่งระดับโลก

ปณาลี กล่าวว่า ‘ตลาดสี่มุมเมือง’ ยังเป็นตลาดต้นแบบของตลาดค้าส่งผักผลไม้ของสดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา จากการนำเทคโนโลยีผสมผสานกับระบบการจัดการที่เข้าใจง่ายและมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ

ตลาดแรก ที่มีการวางระบบแบบแยกประเภทสินค้าเป็นหมวดหมู่โซนตลาดอย่างชัดเจน ดังนี้

  • โซนผัก ของสด เครื่องปรุง (12 อาคารตลาด)
  • โซนผลไม้ (7 ชอาคารตลาด)
  • ตลาดดอกไม้และสังฆภัณฑ์, ลานคอนเทนเนอร์ และโซนอาคารห้องเย็น

โดยทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นที่ 350 ไร่

ถอดรหัสมาตรฐานสินค้า

นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดแรกที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเป็นคำเรียกเฉพาะ อาทิ

LA  หมายถึง ใหญ่ สวย

MA หมายถึง กลาง สวย

SA หมายถึง เล็ก สวย

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ขณะเดียวกัน ตลาดสี่มุมเมือง ยังเป็นศูนย์กลางของข้อมูลราคาสินค้า ผัก ผลไม้ วัตถุดิบอาหาร ดอกไม้ ที่องค์กรรัฐและเอกชน เกษตรกร ผู้ประกอบการและสื่อมวลชนใช้อ้างอิงเป็นราคากลางของประเทศไทย

อีกทั้งยังมี มีฝ่ายตรวจสอบสารพิษภายใต้มาตรฐานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจสินค้าที่จำหน่ายในตลาดทุกวัน และยังเปิดให้ผู้ที่สนใจที่ต้องการใบรับรองเพื่อส่งออกเข้ามาใช้บริการได้

สร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษผักเหลือ

นอกจากนี้ ‘ตลาดสี่มุมเมือง’ ยังลงทุนครั้งใหญ่พื่อพัฒนาธุรกิจให้สอดคล้องกับ ‘เมะเทรนด์โลก’ เพื่อก้าวสู่ตลาดค้าส่งเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Circular Economy ให้สมดุลทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญทั้งเรื่อง ขยะ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และคืนน้ำดีให้กับชุมชน โดยสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรม ดังนี้  

เปลี่ยนเศษผักเป็นอาหารปลา

ตลาดสี่มุมเมืองได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานประเภทการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ (Resource Efficiency) จาก TGDA 2021 เป็นต้นแบบของตลาดที่มีระบบการจัดการขยะ เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน สามารถรีไซเคิล (Recycle) และ อัพไซเคิล (Upcycle) 40% จากขยะทั้งหมด 230 ตัน ต่อ วัน ทำให้ลดการฝั่งกลบและสร้างรายได้เพิ่มอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้นำเศษผักกว่า 190 ตันต่อวัน มาเปลี่ยนเป็นอาหารปลาได้ถึงวันละ 50 ตันต่อวัน และสามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารโคได้ 20 ตันต่อวัน อีกด้วย  

รวมไปถึง การนำขวดแก้ว กล่องโฟม กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะจากทั้งในตลาดและหมู่บ้านไปจำหน่ายต่อให้กับโรงงานและบริษัทที่รับซื้อเพื่อไปรีไซเคิลต่อไป และมีรถบริการรับซื้อขยะถึงที่

ใช้พลังงานหมุนเวียน

ตลาดสี่มุมเมือง ยังได้ลดการใช้ไฟฟ้าด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ บนหลังคาของโซนห้องเย็น และหลังคาอาคารตลาดต่าง ๆ กว่า 4,000 ตารางเมตร (1,271 แผ่น) สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้มากถึง 12% ต่อเดือน

พร้อมลงทุนกว่า 40 ล้านบาท นำเทคโนโลยี Activated Sludge มาใช้บำบัดน้ำเสียทั้งจากตลาดและหมู่บ้าน ได้มากถึง 6,500ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และผ่านการรับรองจากสำนักสิ่งแวดล้อม จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำน้ำที่ได้จากการบำบัดถูกนำไปใช้ประโยชน์รอบตลาด เช่น ล้างพื้นตลาด รดน้ำต้นไม้ รวมทั้งปล่อยน้ำดีคืนให้กับแหล่งน้ำของชุมชนต่อไป

ทศวรรษหน้า ตลาดกลางสี่มุมเมือง

จากแนวทางการบริหารตลาดกลางสี่มุมเมืองที่ผ่านมา ปณาลี มองต่อถึงในอีก10 ปีหน้าว่า จะยังคงตำแหน่งผู้นำศูนย์กลางค้าส่งผักผลไม้ที่สำคัญของประเทศ

โดยใช้จุดแข็งจากการเก็บข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจลักษณะการทำการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งเป็นแบบรายย่อยกระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ และมักปลูกพืชชนิดเดียว ทำให้ยากต่อการซื้อขายผลผลิต

ปณาลี กล่าวว่า “หากผู้ซื้อต้องการผลผลิตจำนวนมาก หรือต้องการผลผลิตหลายชนิดจำเป็นต้องไปหลายที่ จึงจะได้สินค้าตามต้องการ ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูง ซึ่งแตกต่างจากประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่เกษตรกรมีฟาร์มใหญ่ การซื้อขายในปริมาณมากสามารถจบได้ในที่เดียว”

ดังนั้น ประเทศไทย ยังจำเป็นต้องมีตลาดกลางค้าส่งอย่างตลาดสี่มุมเมือง ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อให้พบกัน ทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ซื้อสะดวกขึ้น ทั้งในแง่การขนส่ง การซื้อขายสินค้า และการระบายสินค้าไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

โดยกลุ่มลูกค้าหลักของตลาดสี่มุมเมือง คือ ธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ทั้งร้านอาหาร ตลาดนัด ตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดนัด ตลาดสดมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาเป็นรูปแบบอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) มากขึ้น เพื่อตอบสนองตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

สำหรับในปี2566 ตลาดสี่มุมเมืองคาดยังมีอัตราการเติบโตรายได้ต่อเนื่องผ่านโมเดลธุรกิจข้างต้น จากในปี2565 ที่ผ่านมา มีรายได้ อยู่ที่ 1600 ล้านบาท

 

TAGS: #ตลาดสี่มุมเมือง #ตลาดกลางค้าส่ง