GGC ตั้งเป้ายอดขายปีนี้โต 20% ทุ่ม 8,000 ล้าน รอปิดดีล M&A รายใหม่

GGC ตั้งเป้ายอดขายปีนี้โต 20% ทุ่ม 8,000 ล้าน รอปิดดีล M&A รายใหม่
GGCเดินหน้าสร้างการเติบโตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม มองหาโอกาสธุรกิจใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค คาดปีนี้ยอดขายโต 20% ฝากรัฐบาลใหม่เดินหน้า BCG MODEL

นายกฤษฎา  ประเสริฐสุโข  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในปีนี้ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมาจากปริมาณการขายเมทิลเอสเทอร์หรือ ไบโอดีเซล (B100) ที่ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่ยอดขายแฟตตี้แอลกอฮอล์เพื่อส่งออกจะปรับเพิ่มขึ้น 5-10% จากปีก่อน ส่วนธุรกิจกลีเซอรีน ยอดขายน่าจะขยับตามความต้องการใช้ B100

ทั้งนี้แม้ว่าภาพรวมยอดขายปี 2566 จะเติบโตขึ้น แต่บริษัทยังมีปัจจัยกดดันจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลงอย่างมาก หรือประมาณ 40-60% เมื่อเทียบกับปีก่อน อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ปีนี้ลดลง หรือใกล้เคียงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 25,164 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามยอดขายในแต่ละผลิตภัณฑ์จะเริ่มดีขึ้นในปี 2567 และทำให้มีรายได้เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยมาจากการขาย เมทิลเอสเทอร์ แฟตตี้แอลกอฮอล์ และกลีเซอรีนที่เพิ่มขึ้น และโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 ที่จะเดินเครื่องเต็มที่

นอกจากนี้แผนการลงทุนในธุรกิจใหม่ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการเข้าซื้อกิจการ(M&A) ที่จะมีความชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า ที่จะเข้ามาเสริมรายได้ให้กับบริษัทได้ทันที โดยเตรียมวงเงินไว้ประมาณ 8,000 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัทมีความสามารถผลิต B100 ได้ 5 แสนตันต่อปี แต่ปริมาณความต้องการในตลาดยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก โดยใช้กำลังการผลิต 65 %  ถือว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 50% ซึ่งหลังจากภาครัฐมีนโยบายใช้ดีเซล B7 จากเดิม B10-B20  ทำให้ความต้องการใช้ B100  ลดลงไป 25% แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ตามความคืบหน้าโครงการ NBC เฟส 1 โรงงานเอทานอลได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว แต่ยังไม่เต็ม กำลังการผลิต เนื่องจากวัตถุดิบยังไม่เพียงพอ ผลิตเอทานอลเพียง 50-60% จากความสามารถในการผลิตเต็มกำลัง อยู่ที่ 6 แสนลิตรต่อวัน โดยปีนี้ได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพื่อเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ซึ่งฤดูการเปิดหีบอ้อยปี 2566/2567 จะเริ่มในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ บริษัทจะพยายามผลิตเอทานอลให้ได้ตามเป้าที่ 6 แสนลิตรต่อวัน

อย่างไรก็ตามเป้าหมายการเติบโตของ GGC จะดำเนินการตาม 3 ยุทธศาสตร์หลักคือ 1.  ยุทธศาสตร์การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน (Enhance Competitiveness) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Enhance Competitiveness) และสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่กดดันต่อการดำเนินธุรกิจรวมทั้งการสร้างผลกำไรอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันตลอดห่วงโซ่อุปทาน

2.ยุทธศาสตร์การเติบโตในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Growth Portfolio) การมุ่งเน้นสร้างการเติบโตผ่านการลงทุนต่อยอดในธุรกิจเดิมของบริษัท รวมถึงการลงทุนธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ไบโอเจ็ท ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลิตภัณฑ์และทำการตลาดในปี 2567 ,ธุรกิจเคมีชีวภาพ และธุรกิจส่วนประกอบอาหารและโภชนเภสัช ในกลุ่มเครื่องสำอางและอาหารเสริมมากขึ้น และ3.ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability Development) เพื่อการเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการอย่างยั่งยืน (Sustainable Company)

นายกฤษฎา กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ผลักดันคือ 1.ส่งเสริมเกษตรกรอย่างจริงจังเพื่อผลิตผลิตพืชเกษตร เช่น อ้อย  ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของเอทานอลที่นำมาใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยต้องจัดการระบบชลประทานให้ทั่วถึง เพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น  30-40% จากปัจจุบันเป็นการปลูกแบบเทวดาเลี้ยง แล้วแต่ฟ้าฝน ถ้าทำได้เกษตรกรอยู่ได้ เพราะความต้องการใช้เอทานอลในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง

2.นโยบายในเรื่องของพลังงานต้องมีความชัดเจนว่าต้องการส่งเสริมอะไร เพราะเอกชนมีการลงทุนไปแล้วไม่สามารถไปลดเงินลงทุนได้แต่ถ้าลดกำลังการผลิตจะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น   อย่างกรณีน้ำมันอากาศยานชีวภาพ หรือ ไบโอเจ็ท ภาครัฐยังไม่มีการบังคับใช้ ก็ต้องดูจังหวะเวลาและความคุ้มค่าด้วย ทำให้ต้องทยอยการลงทุนไป ซึ่งยอมรับว่ากังวลรัฐบาลใหม่จะเดินหน้านโยบาย BCG Model ต่อหรือไม่ เพราะยังมีกฏระเบียบอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข

 

 

 

 

 

TAGS: #GGC #CG #MODEL #ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม #เอทานอล #B100