แพลททินัม ฟรุ๊ต ไม่ห่วงเลยคู่แข่งในตลาดจีน แต่ปีหน้า ‘ลาณีญ่า’ จะท้าทายคุณภาพทุเรียนไทย  

แพลททินัม ฟรุ๊ต ไม่ห่วงเลยคู่แข่งในตลาดจีน แต่ปีหน้า ‘ลาณีญ่า’ จะท้าทายคุณภาพทุเรียนไทย  
แพลททินัม ฟรุ๊ต มองส่งออกผลไม้ไทยไปจีนยังมีแรงซื้อไม่อั้น แต่ต้องคัดเกรดพรีเมียมเจาะตลาด หนุนไทย ‘ฮับ’ อุตฯผลไม้ส่งออกโลก ตามรอยยักษ์แบรนด์ Dole

กระแส ‘ทุเรียนไทย’ ในตลาดส่งออกใหญ่อย่างจีนที่ถูกสั่นคลอนมาตลอดช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากการเข้ามาของคู่แข่งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่ส่ง มูซานคิงส์ แข่งกับหมอนทองของไทย หรือแม้แต่เวียดนามที่ไล่กวดทุเรียนส่งออกไทยไปจีนจนแทบหายใจรดต้นคอในขณะนี้

รวมไปถึงความท้าทายล่าสุด หลัง ‘จีน’ หันมาปลูกทุเรียนเพื่อทำตลาดและบริโภคใประเทศได้เองแล้ว

ต่อแนวโน้มดังกล่าว ‘ณธกฤษ เอี่ยมสกุล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยมรายใหญ่ของไทย ได้ให้มุมมมองสถานการณ์ตลาดผลไม้ไทยในเวลานี้โดยเฉพาะ ‘ทุเรียนไทย’ ที่หลายคนหวั่นใจ ถึงตำแหน่งแชมป์ผู้ส่งออกรายใหญ่ในตลาดจีนที่กำลังอ่อนไหว จากหลายสถานการณ์ที่ถาโถมในช่วงที่ผ่านมา

เช็คอาการ ‘ทุเรียนไทย’ ยังไหวไหม?

 

ณธกฤษ บอกว่า หากมองภาพรวมตลาดทุเรียนของไทยปีนี้ (2567) มีผลผลิตเพิ่มตามพื้นที่การเพาะปลูก แต่จากภาวะเอลนีโญ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามคาด เนื่องด้วยทุเรียนจะกำหนดราคาขายตามปริมาณกิโลกรัม แต่เมื่อน้ำหนักต่อผลลดลงจึงทำให้สัดส่วนการขายต่อผลมีราคาสูง

“ในปีนี้ชาวสวนได้ราคาทุเรียนเติบโตขึ้น 15-20%”      

ส่วนสถานการณ์ส่งออกผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนไทยไปยังตลาดจีน ในปัจจุบันแบ่งตลาดการบริโภคทุเรียนออกเป็น  3 กลุ่มใหญ่ คือ ตลาดทั่วไป(แมส) ตลาดระดับกลาง และ ตลาดระดับบน (พรีเมียม) ซึ่งตลาดแต่ละกลุ่มมีผลผลิตสินค้าทุเรียนที่ตัดเกรดเพื่อทำตลาดแตกต่างกันออกไป

สำหรับในประเด็นจีน หันมาปลุกทุเรียนเพื่อบริโภคในประเทศได้เองแล้วนั้น โดยในมุมของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้ส่งออกทุเรียนระดับพรีเมียมไปยังตลาดจีน มองว่าไม่ได้รับผลกระทบ ด้วยปัจจุบัน จีน เป็นตลาดใหญ่ที่มีความต้องการผลไม้เกือบทุกประเภท ขณะที่ผลผลิตทุเรียนไทยที่คัดเกรดเพื่อส่งออกยังเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยถูกการันตีด้านคุณภาพและรสชาติในระดับเกรดเอ มาแล้ว

ส่วน ‘ทุเรียน’ ที่ปลูกในสวนจีนนั้น สามารถบริโภคได้แต่รสชาติจะไม่ทัดเทียมเท่าจากทุเรียนส่งออกของไทย จากภูมิสภาพและอากาศในพื้นที่การปลูกในจีนที่แตกต่างไปจากประเทศเจ้าถิ่นผลไม้เมืองร้อน ที่สร้างความแตกต่างด้านคุณภาพผลผลิตอย่างชัดเจน ที่ไม่ใช่แค่ทุเรียน เท่านั้นแต่ยังอาจรวมถึงผลไม้อื่นๆ ด้วย  

“ผลไม้เกรดพรีเมียมเพื่อส่งออกจากไทย ยังเป็นที่ต้องการต่อเนื่องในทุกฤดูกาลด้วยส่งออกไปเท่าไหร่ตลาดจีนรับซื้อไม่อั้นซึ่งยังไม่ถึง 30% ของตลาดในขณะนี้  จากทั้งขนาดเศรษฐกิจ กำลังซื้อคนในประเทศที่ยังมีจีดีพีสูง”

พร้อมเสริมว่า ด้วยศักยภาพของตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมักริเริ่มปลูกผลไม้ประเภทต่างๆ หรือสายพันธุ์จากต่างประเทศมาโดยตลอด อย่างองุ่นไซมัสคัส  ที่ปลูกในจีนและทำตลาดส่งออก ก็มีรสชาติแตกต่างไปจากที่ปลูกในประเทศต้นกำเนิดอย่างญี่ปุ่น

ขณะที่ ทุเรียนคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มูซานคิงส์ มาเลเซีย หรือ ทุเรียนจากเวียดนาม ที่เข้าไปตีตลาดจีนในขณะนี้ ก็วางตำแหน่งในตลาดที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูซานคิงส์จะมีรสชาติใกล้เคียงกับตำแหน่งทุเรียนหมอนทองของไทย แต่ด้วยกระบวนการปลูกและเก็บเกี่ยวของสายพันธุ์นี้ ที่จะต้องให้ผลร่วงจากต้นลงพื้นเองเพื่อให้ได้รสชาติเต็มที่นั้น ได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนด้าน ‘เชลฟ์ ไลฟ์’ ของสินค้าที่ผู้ประกอบการปลายทางมีความกดดันที่จะต้องเร่งทำตลาดในระยะเวลาจำกัดก่อนที่ผลไม้จะสุกงอมมากเกินไปจนเสียรสชาติ ทำให้การทำตลาดมูซานคิงส์ในจีนส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะทุเรียนแช่แข็ง ซึ่งต่างจากทุเรียนหมอนทองของไทยที่เน้นขายผลสด ด้วยมี ‘เชลฟ์ ไลฟ์’ ในการทำตลาดนานกว่า ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าในตลาดจีน   

ส่วนตลาดทุเรียนจากเวียดนาม นั้นยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบทุเรียนไทยที่เข้าไปแข่งขันในตลาดแมส จากจุดแข็งด้านการขนส่งสินค้าที่คล่องตัวกว่าไทย ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการทำตลาดสินค้าขณะที่รสชาติใกล้เคียงกัน

“จุดนี้มองว่า สวนทุเรียนไทยต้องยกระดับหันมาพัฒนาคุณภาพผลผลิตในระดับพรีเมียมเพื่อหนีการแข่งขันด้านต้นทุนขนส่งที่อาจเสียเปรียบกว่าประเทศคู่แข่งในตลาดเดียวกัน” ณธกฤษ กล่าว

ขยายตลาดเจาะ ‘บลู โอเชี่ยน’

 

ณธกฤษ กล่าวว่า แนวทางธุรกิจบริษัทฯ จะไม่ใช้สงครามราคาในการทำตลาด ซึ่งมีการแข่งขันสูงในทะเลน่านน้ำสีแดง (Red Ocean)  แต่ แพลททินัม ฟรุ๊ต จะใช้จุดเด่นสินค้าเกรดเอ ระดับพรีเมียม เพื่อเข้าไปในตลาดน่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) ซึ่งยังมีช่องทางอีกมาก โดยสร้างการเติบโตไปพร้อมกับชาวสวนไทยในการเพิ่มผลผลิตคุณภาพพรีเมียมออกมาทำตลาด ใช้เป็นจุดแข็งสร้างความแตกต่างให้กับตลาดปลายทางที่จะเข้าไป

พร้อมเสริมว่า การทำธุรกิจของบริษัทฯ จะเข้าไปดูแลเกือบทั้งตลอดซัพพลายเชน ยกเว้นการทำสวนเอง เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ได้มากที่สุดทั้งการคาดการณ์เก็บเกี่ยว การควบคุมการขนส่งกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) ที่ครอบคลุมในทุกรูปแบบเพื่อลดปัญหาตลอดการจัดส่ง ทั้งทางบกและทางน้ำ

ณธกฤษ เสริมว่า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งให้ความสำคัญการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในกลุ่มผลผลิตลำไยให้มีคุณภาพการส่งออกระดับเกรดเอให้ได้มากที่สุด ด้วยในปัจจุบันพื้นที่ปลูกลำใยในภาคเหนือมีผลผลิตรเกรดพรีเมียมราว 23% เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 77% เป็นผลลำไยรูดร่วงลงพื้น

“ผมชอบเข้าไปสวนซอมบี้ซึ่งหากเจ้าของสวนจะขายไปก็ยังต้องแบกหนี้ธนาคารต่อ ซึ่งได้ไปพัฒนาสวน ให้คำแนะนำต่างๆ อย่างปรับสูตร ปรับเทคนิค  ที่ได้ต้นที่สมบูรณ์มากขึ้น แต่ช้งบเท่าเดิมที่เพิ่มคือเป็นเกรดส่งออก ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับชาวสวนที่จะได้มีผลผลิตคุณภาพมากขึ้น”

โดยในช่วงปลายปี2566 ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้นำร่องพัฒนา ‘ลำพูน โมเดล’ ขึ้นในอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ให้กับชาวสวนลำใย จากเดิมที่มีผลผลิตรูดร่วงซึ่งในตอนนี้ได้สวนลำใยในระดับเกรดดีขึ้นมาก จำหน่ายได้กิโลกรัมละ 30 บาทจากเดิมอยู่ที่กิโลกรัมละ10 บาท ซึ่งบริษัทฯ จะเป็นผู้รับซื้อด้วยเช่นกัน

แผนปีหน้ากับ 'ลานีญ่า' ท้าทาย

 

ณธกฤษ  กล่าวว่าแนวทางธุรกิจในปี 2568 ในฐานะผู้ประกอบการส่งออกมองว่า การเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับชาวสวนผลไม้ของไทย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการร่วมวางแผนผลผลิตที่จะออกมาในแต่ละฤดูกาลผลไม้นั้นๆ ทั้งเพื่อรักษาตลาดส่งออกของไทยเอง และ การสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้กับชาวสวนเกษตรกร

อย่างในปีหน้า จะเข้าสู่ภาวะลานีญา ทั่วโลกมีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ดังนั้นการออกแบบพื้นที่การปลูกจะสำคัญมาก อย่างการปลูกทุเรียนต้องดีไซน์ใหม่เพิ่มความหนาแน่นของต้นทุเรียนมากขึ้นเพื่อให้แย่งน้ำระหว่างกัน ด้วยหากระยะจำนวนการปลูกต้นทุเรียนเท่าเดิมเหมือนก่อนหน้าก็จะมีผลกับรสชาติทุเรียนที่อาจมีรสชาติไม่ดีด้วยรับน้ำมากเกินไป เป็นต้น ไปจนถึงการกระบวนการด้านอื่นๆ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้าไว้

ทั้งนี้ ในปีหน้า บริษัทฯ อาจจะต้องใช้ล้งใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตและดูแลรักษาทุเรียนไม่ให้มีปัญหาราเกิดขึ้น จากสถานการณ์น้ำมาก จากปัจจุบันบริษัทฯ มีแหล่งรับซื้อทุเรียนใน 6 จังหวัด คือ ตราด ระยอง จันทรบุรี สระแก้ว ชุมพร และ สุราษฎร์ธานี

ณธกฤษ กล่าวว่า นอกจากทุเรียนแล้ว บริษัทยังมีแผนขยายตลาดลำใยมากขึ้นหลังเร่งพัฒนาคุณภาพเกรดส่งออกดังข้างต้น ซึ่งลำใยจะมีตลาดสำคัญใน จีน อินโดนีเซีย และ อินเดีย ซึ่งต่างเป็นตลาดที่มีอัตราการบริโภคสูงตามจำนวนประชากรของประเทศขนาดใหญ่

“จะขยายตลาดส่งออกลำใยมากขึ้นที่เริ่มไปที่อินเดียตั้งแต่ปลายปีก่อน และเตรียมฟูลสเกลมากขึ้นในปีนี้”  ณธกฤษ  กล่าว

สำหรับกลุ่มผลไม้ส่งออกในตลาดหลักของบริษัทฯ มีดังนี้

  • จีน ทุเรียน, ลำไย มังคุด และ มะพร้าว
  • อินโดนีเซีย ลำไย
  • อินเดีย ลำไย  
  • และในตลาดยุโรป

พร้อมเสริมต่อว่า “มังคุด เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพ ด้วยตอนนี้อินโดนีเซียเริ่มส่งออกมังคุดที่แม้ว่าจะมีเพียงสายพันธุ์เดียวแต่ให้รสชาติดีมาก ต่างกับมังคุดของไทยมีหลากหลายสายพันธถ์แต่ให้รสชาติไม่หวานเท่า"

ณธกฤษ กล่าวว่า พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังวางแนวทางการลงทุนระยะยาวในอีก 8 ปีข้างหน้า (แผนปี 2566-2575) เพื่อวางเป้าหมายให้บริษัทฯ และประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ ฮับ (Hub) ผลไม้ทั่วโลก ด้วยจุดแข็งทั้งจากคุณภาพผลผลิตผลไม้ระดับพรีเมียมจากแหล่งปลูกในไทย พร้อมด้วยพันธมิตรเครือข่ายด้านโลจิสติกส์ โดยจะเน้นการขนส่งการควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain)

“เป้าหมายที่บริษัทฯจะไป คือ การเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่งออกผลไม้ระดับพรีเมียมของไทยที่ได้การยอมรับระดับโลก ในโมเดลลักษณะเดียวกับ Dole  ผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่สหรัฐอเมริกา ที่ขยายตลาดส่งออกไปทั่วโลกมายาวนาน โดยมุ่งทำตลาดในประเทศที่มีประชากรที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่ ทั้งอินโดนีเซีย ที่อยู่ใกล้เรา อินเดีย ซึ่งมีจีดีพีเติบโตสูงขึ้นเรื่ยๆ ซึ่งผู้คนเริ่มมองหาการบริโภคคุณภาพดีและอร่อยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นบลูโอเชียนในอนาคตด้วย” ณธกฤษ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจของบริษัทฯ หากพบปัญหาหรือติดขัดในจุดใด จะใช้วิธีปิดจุดอ่อนด้วยการเข้าไปทำเอง ทั้งการวิจัยและพัฒนาผลผลิต ตลอดจนความรร่วมมือกับพันธมิตรในสิงคโปร์ด้านท่าเรือเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขนส่งฯ สินค้าเพื่อแก้ปัญหาด้านคอขวด เป็นต้น

พร้อมทิ้งท้ายว่า “เพื่อให้แต่ละชิ้นส่วนภาพธุรกิจมีความสมบูรณ์แบบได้ตามแผนที่วางไว้ การนำบริษัทฯ เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับพันธมิตรธุรกิจและการทำตลาดในอนาคตได้ตามแผน ที่ยังสร้างการเติบโตร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ บริษัทฯทอยู่ระหว่างเตรียมนำกิจการเข้าตลาดฯ ไปตามแผนเดิมที่วางไว้”   

สำหรับ ผลดำเนินการในปี 2566 มีมูลค่ายอดขายรวมกว่า 5,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น

  • ปริมาณการส่งออกทุเรียนทุเรียน 67%  (30,312 ตัน)  
  • ปริมาณการส่งออกลำไย 20%  (19,314 ตัน)
  • ปริมาณการส่งออกมังคุด 10%  (5,559 ตัน) 
  • ปริมาณการส่งออกมะพร้าว 3%  (4,532 ตัน)

TAGS: #แพลททินัม #ฟรุ๊ต #ทุเรียน #ทุเรียนจีน