เลขา คปภ.เข้มการกำกับและตรวจสอบบริษัทประกันภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นในอดีตที่ผ่านมา (EP 5)
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าว The Better ว่าสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดนโยบายโดยมุ่งเน้นความเข้มข้นในการกำกับและตรวจสอบบริษัทประกันภัยในการยกเครื่องการกำกับดูแลความเสี่ยงและการตรวจสอบบริษัทประกันภัย มุ่งสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชน รวมไปถึงการสร้างความแข็งแกร่ง มั่นคง และความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย
เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและสร้างศรัทธาให้กับประชาชน ดังนี้
1. การพัฒนาและยกระดับการกำกับดูแลบริษัทประกันภัยผ่านระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System : EWS) โดยมีแผนดำเนินการ ดังนี้
1) ศึกษาข้อมูลในการนำตัวชี้วัดความเสี่ยงในศักยภาพการชำระภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย (Common Insolvency Risk Indicator) มาใช้ในระบบ EWS อาทิ การนำข้อมูลเรื่องร้องเรียน
จากผู้เอาประกันภัย มาใช้เป็นอัตราส่วนทางการเงินในระบบ EWS
2) สั่งการให้บริษัทฯจัดทำประมาณการผลการดำเนินการและความมั่นคงทางการเงิน
อาทิ Stress test CAR Projection ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจกระทบกับบริษัท และให้บริษัทนำส่งแผนการแก้ไขเงินกองทุนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มายังสำนักงาน คปภ. ในกรณีที่บริษัทประเมินว่ามีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่า Supervisory CAR
3) กำหนดให้มีการรายงานความคืบหน้าบริษัทประกันภัยที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ต่อผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ทุก 15 วัน
4) บูรณาการร่วมกันกับสายงานต่างๆ อาทิ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สายตรวจสอบ
คนกลางประกันภัย สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ และสายกฎหมายและคดี เพื่อยกระดับ
การกำกับดูแลบริษัทประกันภัยที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในเรื่องต่างๆ อาทิ การอนุมัติ/อนุญาตผลิตภัณฑ์ ตัวแทน การลงทุน การจ่ายเงินปันผล การเข้าตรวจสอบบริษัท ณ ที่ทำการ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย
2. จัดให้มีคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย (Product Governance Committee) และการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คุ้มครองความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)
ปัจจุบันสำนักงาน คปภ. มีหลักเกณฑ์และกระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยกำหนดให้บริษัทจัดให้มีคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัย (Product Governance Committee) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการบริหารความเสี่ยงเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการกำหนดเบี้ยประกันภัยเป็นรายผลิตภัณฑ์ประกันภัย อันจะเป็นการส่งเสริมให้บริษัทมีความรับผิดชอบ ในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างครบถ้วนทั้งวงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยพิจารณาในแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย ตลอดจนความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัย เช่น ความเพียงพอของเงินกองทุน กระบวนการพิจารณารับประกันภัย กระบวนการเสนอขาย กระบวนการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น โดยนายทะเบียนจะพิจารณาให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยซึ่งได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ประกันภัยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนายทะเบียนให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัยแล้ว บริษัทจึงสามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่อประชาชนได้
3. การประเมินความทนทานของระบบประกันภัย (Stress Test)
สำนักงาน คปภ. ใช้การทดสอบสถานะของบริษัทภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจำลอง (Stress Test) เป็นเครื่องมือในการประเมินความทนทานของระบบประกันภัย และได้กำหนดสถานการณ์จำลอง ซึ่งเป็นสถานการณ์ความเสี่ยงที่ใช้ร่วมกันระหว่าง สำนักงาน คปภ. ธปท. และ ก.ล.ต. เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อระบบการเงินบนพื้นฐานเดียวกัน และให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยดำเนินการจัดทำ และนำส่งรายงานการทดสอบให้สำนักงาน คปภ. เป็นประจำทุกปี ซึ่งการประเมินผลการทดสอบจะทำให้บริษัทประกันภัยมีการประเมินแนวทางการดำเนินงาน (Management Actions) สำหรับกรณีที่บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจจะกระทบฐานะของบริษัท เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและให้บริษัทสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะส่งเสริมมาตรฐานการกำกับดูแลที่ดีเพื่อให้ธุรกิจ มีการดำเนินงานที่มีความเหมาะสมในการรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต
4 การกำหนดให้บริษัทประกันภัยนำส่งรายงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและการประกอบธุรกิจอื่น เพื่อนำมาใช้ในการติดตามการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย นอกจากนี้ยังมีนโยบายในการพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่มีอยู่เดิมให้เข้มข้นมากขึ้น รวมถึงออกกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติใหม่ที่ยังไม่เคยมี ให้สอดรับกับพลวัตของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงในปัจจุบัน เช่น การกำกับธุรกิจประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group-Wide Supervision) เพื่อขยายขอบเขตการกำกับดูแลจากเดิมที่ครอบคลุมเพียงบริษัทประกันภัยที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ในระดับบริษัท เป็นการกำกับดูแลบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้น (Holding Company) หรืออำนาจในการควบคุมของบริษัทประกันภัยที่สำนักงาน คปภ. กำกับดูแลอยู่ ตลอดไปจนถึงการควบคุมธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท
ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างศึกษาทบทวนประกาศ คปภ. ว่าด้วยการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันภัยและแนวทางการกำกับดูแลการลงทุน เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจและความเสี่ยงในปัจจุบันของบริษัทประกันภัย เพื่อให้สำนักงาน คปภ. กำกับดูแลบริษัทประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ธุรกิจประกันภัยและประชาชนได้