“King Eggs” ชูคอนเซปต์ Farm to Table แก้เพนพอยท์ผู้บริโภคซื้อไข่ไก่คู่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมกันในตู้สินค้าอัตโนมัติ นำร่องตู้แรกใน ลุมพินี เมกะซิตี้ พร้อมแผนขยายแฟรนไชส์ในอนาคต
ราชาฟาร์มไข่ไก่ หรือ สุนทรฟาร์ม ผู้ผลิตไข่ไก่สดอันดับต้นๆ ของไทย จากจุดเริ่มต้นเลี้ยงไก่เพียงไม่กี่ตัวเพื่อเก็บไข่มาขาย ก่อนขยายกิจการจนถึงปัจจุบันกิจการมีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี พร้อมสร้างแบรนด์คิงส์ เอ้กส์ “King Egg” ให้เป็นที่รู้จักในตลาดผู้ค้ากลางมารับซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ มาระยะหนึ่ง
ล่าสุด ชาณุวัฒณ์ สิวะโมกข์ ประธานบริษัท คิงส์เอ้กส์(ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของฟาร์มไข่ไก่ King Eggs กล่าวกับ The Better ว่าในปี2566 จะเป็นปีแห่งการสร้างแบรนด์เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคปลายทาง (End User) เป็นครั้งแรก หลังจากสร้างแบรนด์คิงส์เอ้กส์ ในกลุ่มเป้าหมายผู้รับซื้อคนกลางมาก่อนหน้าระยะหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยและคุณภาพ ในสินค้าให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
และเพื่อซัพพอร์ตแนวคิดดังกล่าว ทำให้ชานุวัฒน์ ได้นำแนวคิด (คอนเซปต์) Farm to Table การนำผลิตภัณฑ์สดจากฟาร์ส่งถึงมือผู้บริโภคมาใช้ในการทำตลาดเอนด์ยูสเซอร์ ผ่านโมเดลเวนดิง แมชีน ขายไข่ไก่สดผ่านตู้สินค้าอัตโนมัติ โดยร่วมมือกับพันธมิตร บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายตู้สินค้าอัตโนมัติ Advance Vending เพื่อพัฒนานวัตกรรมการจำหน่ายตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ เพื่อคงความสดของสินค้าไข่ไก่เอาไว้ได้ตามอายุ เพื่อการันตีสินค้าไข่ไก่ที่ได้สดใหม่จริงๆ
ชานุวัฒน์ ยังคิดต่อไปอีกว่า หากจะดึงความสนใจให้ผู้บริโภคสนใจซื้อสินค้าไข่ไก่เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ จึงได้นำสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาจำหน่ายในตู้เวนดิงฯ เพิ่มเติม เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการซื้อสินค้าไข่ไก่ได้พร้อมกับบะหมี่กึ่งฯยี่ห้อ รสชาติ ต่างๆได้พร้อมกัน โดยในเบื้องต้น บริษัทได้ทดลองวางจำหน่ายสินค้าผ่านตู้เวนดิงฯ แห่งแรกที่ คอนโดลุมพินี เมกะซิตี้ บางนา ชั้น 1 ตึก B
“เฟสแรกจะเป็นการทดลองทำตลาดราว 3 เดือน เพื่อวัดผลตอบรับสินค้าและศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคไปพร้อมกัน อย่างการขายไข่ไก่สดพร้อมบะหมี่กึ่งฯในตู้เดียวกันยังแก้เพนพอยต์ลูกค้า ที่ต้องการความสะดวกสบาย อิ่มท้อง และได้คุณประโยชน์โปรตีนจากไข่ไก่ ได้จากในตู้เดียวกัน ซึ่งในอนาคตหากได้ผลตอบรับดี ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มไลน์สินค้าสดอื่นๆ ที่สามารถจำหน่ายในตู้เดียวกันได้ อย่างทำ ไข่ปิ้ง ไข่ออนเซ็น ไข่ตุ๋น ที่เลือกอุณหภูมิ ขนาดความสุกของไข่ได้ตามความต้องการที่หน้าตู้ได้เลย” ชานุวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ King Eggs Vending Machine ยังจะเข้ามาช่วยในเรื่องต้นทุนการขยายสาขา และปัญหาเรื่องคน ในกลุ่มผู้ค้าคนกลางที่สามารถดูแลและขายไข่ผ่านตู้ Vending Machine ได้มากกว่า 50 ตู้ในหนึ่งรอบสัปดาห์ เนื่องจากอายุไข่จะอยู่ที่ประมาณ 1สัปดาห์ ให้สามารถดำเนินการได้เพียงคนเดียว อีกด้วย
โดยในสิ้นปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายขยายช่องทางจำหน่ายไข่ไก่ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติจำนวน 100 ตู้ ไปยังพื้นที่คอนโดทั่วกรุงเทพฯ คาดว่าจะสามารถทำกำไรจากการขายไข่ไก่จากปกติ เพิ่มกว่าเดิม 20% พร้อมเตรียมแผนขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ตู้นจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ คิงส์เอ้กส์ ราวไตรมาส4 นี้ หรือ ไตรมาสแรกของปี 2567
ดึงเกษตรกรฟาร์มไก่ชุมชน เข้าร่วม
ชานุวัฒน์ กล่าวว่าสำหรับไข่ไก่สด ที่นำมาจำหน่ายในตู้สินค้าอัตโนมัติ จะซัพพลายโดยตรงจาก สุนทรฟาร์ม ซึ่งมีกำลังผลิตไข่ไก่อยู่ที่ราว 700,000-800,000 ฟองจากแม่ไก่ไม่ต่ำกว่า 800,000ตัวต่อวัน เพื่อสร้างยอดขายจาก Economy of Scale มีกำไรต่อหน่วยสูงสุดจากจำนวนไข่ไก่ที่ผลิตได้มาก จากเดิมที่สุนทรฟาร์มมีจำนวนแม่ไก่เพียง 30,000 ตัว ก่อนขยายเพิ่มเป็นจำนวนดังกล่าวในปัจจุบัน
จาก แผนขยายธุรกิจภายใต้โมเดลดังกล่าว เพื่อไปสู่การขายและสร้างกำไรธุรกิจ ให้มีความพร้อมสู่แผนการนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเงินทุนมาต่อยอดพัฒนาฟาร์มใที่มีมาตรฐาน และสามารถผลิตไข่เพื่อให้ผู้ค้านำไปขายโดยสร้างรายได้ให้กับตัวเอง
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนในอนาคต โดยจะรับซื้อไข่ไก่ที่มาจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในฟาร์มอื่นๆ โดยเฉพาะไข่ไก่ระดับพรีเมียม เพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในตู้เวนดิง แมชชีน เพื่อขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าปลายทางที่อยู่อาศัยในโครงการคอนโดมีเดียมระดับบน อีกด้วย
พร้อมวางเป้าหมาในปีนี้ จะสามารถขยายการเลี้ยงไก่เป็น 1,200,000 ตัว รวมถึงการได้เห็นภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของแบรนด์ King Egg ด้วย
ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปีนี้พุ่ง 80%
ชานุวัฒน์ กล่าวว่าสำหรับราคาไข่ไก่ในตู้คิงส์ เอ้กส์ เวนดิงฯ จะอิงกับราคาในท้องตลาดทั่วไป ด้วยเป็นสินค้าควบคุม แม้ว่าในปัจจุบันต้นทุนในภาพรวมสินค้าจะสูงขึ้นอีก 80% จากปีก่อนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีต้นทุนราว 10 บาท ในปี2566 ปรับขึ้นเป็น 18 บาท จากปัจจัยความผันผวนเศรษฐกิจโลก ในช่วงปีก่อน ขณะที่ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์ม ในขณะนี้ (21 มี.ค.)อยู่ที่ 3.40 บาทต่อฟอง และมีแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้น