แอร์เอเชียปักหมุด 4 ประเทศมุ่งกลยุทธ์ ‘มัลติ ฮับ อาเซียน แอร์ไลน์’ ขยายเส้นทางบินใหม่ กัมพูชา คาซัคสถาน ตุรกี สู่ตำแหน่งสายการบิน ‘ฟูล เซอร์วิส อีโคโนมิก แอร์ไลน์’ หลังเข้าซื้อ Capital A 100%
โทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย ผู้บริการธุรกิจการบินสายการบินต้นทุนประหยัด (โลว์ คอสต์ แอร์ไลน์) แอร์เอเชีย เปิดเผยว่าเป็นครั้งแรกบริษัทฯ ออกมาประกาศแผนธุรกิจอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พร้อมวางกลยุทธ์ธุรกิจสายการบินกลุ่มแอร์เอเชีย สู่การเป็นผู้ให้บริการสายการบินครบวงจรต้นทุนประหยัดระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ กลุ่มแอร์เอเชีย ยังย้ำตำแหน่งการเป็นเป็น ‘อาเซียน แอร์ไลน์’ โดยจะขยายเส้นทางบินใหม่ไปยังประเทศกัมพูชา คาซัคสถาน บังคลาเทศ ตุรกี รวมถึงในประเทศยุโรป นอกเหนือจากการเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางประเทศออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น ในปัจจุบัน พร้อมวางแผนเพิ่มฝูงบินจำนวนใหม่อีก 9 ลำในปี 2568 รองรับแผนการบินดังกล่าว โดยมีประเทศมาเลเซีย และไทย วางตำแหน่งเป็นกึ่งกลางศูนย์การบินร่วมกัน (Similar Hub)
“ภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าว ยังเตรียมแผนรวมโครงสร้างการบินใหม่ พร้อมเพิ่มเครื่องบินอีก 6 ลำเข้ารองรับแผนธุรกิจ จากการเตรียมกลับมาบินในเส้นทางคาซัคสถาน-ยุโรป ภายในสิ้นปีนี้ และพร้อมไปยังเส้นทาง อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา พร้อมวางกลยุทธ์สู่การเป็นมัลติ ฮับ เพื่อให้บริการครอบคลุมการบินในอาเซียน ใน 4 ประเทศ คือ กรุงเทพฯ ประเทศไทย มนิลา ประเทศฟิลิปปินส์, กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และ จาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย”
เฟอร์นานเดส กล่าวต่อถึงสถานการณ์ยกเว้นการตรวจลงตราเข้าไทย หรือการยกเว้นการขอวีซาเข้าประเทศไทย แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (Free Visa) ทั้งประเทศจีนและอินเดีย ที่คาดว่าจะส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระหว่างภูมิภาคเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ที่จะเป็นอีกหนึ่งตลาดการเดินทางสำคัญของอุตสาหกรรมการบิน
สำหรับสถานการณ์ธุรกิจการบินกลุ่มแอร์เอเชียล่าสุดเทียบกับช่วงก่อนโควิด พบว่า มีการฟื้นตัวกลับมา 74% มีปริมาณหมุนเวียนผู้โดยสาร 78% มีอัตราจำนวนผู้โดยสาร (Load Factor) เพิ่มขึ้น 5% โดยมีผลดำเนินงานทั้งกลุ่มอยู่ที่ 3.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมามีจำนวน 275 เส้นทางการบิน และมีการเติบโตสูงสุดกว่า 92.7% ในเส้นทางการบินในระดับภูิภาค และมีอัตราการโดยสารเต็มลำกลับมา 83.1% ในเส้นทางบินระหว่างประเทศ
โดยในปี 2567 ยังเตรียมความพร้อมฝูงบินจำนวน 191 รวมถึงนำพนักงานทั้ง 100% กลับมาให้บริการเช่นกัน พร้อมวางแผนภายในปี 2571 จะมีฝูงบินให้บริการทั้งหมด 333 ลำ
เฟอร์นานเดส กล่าวอีกว่า ล่าสุดในวันนี้ (8 ม.ค.67) แอร์เอเชีย เอ็กซ์ (AAX) ได้ทำหนังสือตอบรับแบบไม่ผูกมัดกับ Capital A สำหรับข้อเสนอการเข้าซื้อธุรกิจการบิน ได้แก่ AirAsia Berhad และ AirAsia Aviation Group Limited ต่อการเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ AAX กลายเป็นผู้ให้บริการการบินระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมสำหรับเส้นทางระยะสั้นและระยะกลางทั้งหมดภายใต้ชื่อแบรนด์แอร์เอเชีย
“การเข้าซื้อกิจการที่ก้าวล้ำนี้ คาดว่าจะให้ข้อได้เปรียบที่ไม่มีใครเทียบได้ รวมถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ประสิทธิภาพการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และช่วยประหยัดต้นทุนและประสิทธิภาพทางการเงินที่ดีขึ้นในท้ายที่สุด ต่อการตัดสินใจรวมธุรกิจสายการบินผ่านการซื้อกิจการเหล่านี้ เป็นการใช้ประโยชน์จากแนวทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของ AAX หลังจากการยกระดับจากสถานะ Practice Note 17 (PN17) ในเดือนพฤศจิกายน 2566”
ด้าน ดาโต๊ะ แฟม ลี อี ประธานแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า “การเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์เหล่านี้ถือเป็นหลักชัยสำคัญในกลยุทธ์หลังการฟื้นฟู PN17 ของ AAX ซึ่งช่วยหนุนเสถียรภาพทางการเงินของเรา และเพิ่มตำแหน่งทางการตลาดของเรา การควบรวมกิจการภายใต้แบรนด์แอร์เอเชียในฐานะบริษัทจดทะเบียนเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งที่กลับมาและความเชื่อมั่นของตลาดเพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางที่เป็นหนึ่งเดียวและไม่มีใครเทียบได้สำหรับแขกของเรา และมอบมูลค่าที่สำคัญให้กับผู้ถือหุ้นของเรา
“การใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของทุกสายการบินภายใต้แบรนด์แอร์เอเชีย เราพร้อมที่จะสร้างองค์กรที่ขับเคลื่อนเราไปข้างหน้าอย่างแท้จริง การทำงานร่วมกันที่เกิดขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์เหล่านี้เป็นตัวแทนมากกว่าการรวมตัวทางการเงิน มันเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทของเราในฐานะผู้บุกเบิกในการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมการบิน อนาคตมีศักยภาพมหาศาล และเรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เริ่มต้นการเดินทางแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้”
การประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการที่เสนอ ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อตัวชี้วัดทางการเงินต่างๆ คาดว่าจะประกาศให้ทราบในเวลาอันใกล้ โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงการซื้อและขายหุ้นขั้นสุดท้ายและความสมบูรณ์ของข้อตกลง
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นข่าวการรวมกันของสายการบินแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ นั้นเป็นแนวคิดจากการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มแอร์เอเชีย ในประเทศมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทย ยังไม่มีแผนการควบรวมของสายการบินไทยแอร์เอเชีย (TAA) และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (TAAX) แต่อย่างใด